สาระน่ารู้

อ่านก่อน! 20 เรื่องจริงของสาขา “วิทยาการคอมพิวเตอร์” จบไปทำอะไรได้บ้าง

อ่านก่อน! 20 เรื่องจริงของสาขา “วิทยาการคอมพิวเตอร์” จบไปทำอะไรได้บ้าง

1. สำหรับหลักสูตรในประเทศไทย “วิทยาการคอมพิวเตอร์” เป็นสาขาที่ไม่มีคณะเป็นของตัวเอง จะอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ หรือ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตค่ะ

2. วิทยาการคอมพิวเตอร์  มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Computer Science หรือ CS เวลาเรียกชื่อย่อก็จะเรียนว่า CS ไม่ก็ วิทย์คอม ค่ะ

3. วิทยาการคอมพิวเตอร์ ไม่เหมือน วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ นะคะ คือมีเรียนในรายวิชาที่ทับซ้อนกัน แต่ วิศวะคอมฯ จะลงไปทางฮาร์ดแวร์มากกว่า เช่น ออกแบบ CPU หรือ การหาอุปกรณ์ช่วยเพิ่มความแรงของการส่งสัญญาณ Wifi ส่วน วิทย์คอมฯ เน้นไปที่ซอฟต์แวร์ค่ะ

4. ส่วน IT (เทคโนโลยีสารสนเทศ) กับ วิทยาการคอมพิวเตอร์ ก็ไม่เหมือนกัน มีเรียนบางวิชาที่ทับซ้อนกัน แต่ก็มีความต่างคือ IT จะเรียนไปทางด้านการสื่อสาร เพื่อเข้าใจระบบสารสนเทศ ใช้สารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนวิทย์คอมฯ จะเน้นไปที่เขียนโปรแกรมค่ะ ซึ่งวิชาพื้นฐานที่เรียนก็จะคล้ายๆ กัน

5. วุฒิการศึกษาก็ต่างกันนะคะ อย่าง วิทยาการคอมพิวเตอร์จะได้เป็น วิทยาศาสตรบัณฑิต วิศวกรรมคอมพิวเตอร์จะได้เป็น วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีทั้งแบบวิทยาศาสตรบัณฑิตและเทคโนโลยีบัณฑิต ค่ะ

6. การเรียนสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ก็จะมีแขนงหรือวิชาเอกแยกย่อยลงไปอีก (แล้วแต่มหาวิทยาลัย) เช่น AI, Robot, Network แนะนำว่าลองโทรไปสอบถามทางหลักสูตรของสถาบันนั้นก่อนตัดสินใจสอบเข้าจะดีกว่าค่ะ

7. การเรียนจะมีเรียนวิชาพื้นฐานตอนปี 1 เช่น คณิตศาสตร์ ตรรกศาสตร์ อัลกอลิทึม ภาษาอังกฤษ พอเรียนปีสูงขึ้นก็จะลงลึกในระบบแต่ละระบบมากขึ้น มีการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ในหลายๆ ภาษา รวมทั้งเรื่องการจัดการข้อมูล การวิเคราะห์และออกแบบระบบ การประมวลผล ทฤษฎีการพัฒนาซอฟต์แวร์ อีกด้วย

8. นอกจากจะเรียนทับซ้อนกับสาขาอื่นที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีแล้ว ในการทำงานก็สามารถทำงานได้ในตำแหน่งที่คล้ายๆ กันด้วยค่ะ เช่น โปรแกรมเมอร์ ก็จบได้ทั้ง CS และวิศวะคอมฯ เป็นต้น

9. วิทยาการคอมพิวเตอร์ มีเปิดทั้งหลักสูตรปกติ(ภาษาไทย) และหลักสูตรนานาชาติ/ภาษาอังกฤษ บางสถาบันก็มีทั้ง อย่างที่ มจธ.(บางมด) ก็มีทั้งวิทยาการคอมพิวเตอร์(ภาคภาษาอังกฤษ) อยู่ในคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และ วิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์(ภาคภาษาไทย) อยู่ในคณะวิทยาศาสตร์ ค่ะ

10. ส่วนใหญ่สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จะเปิดรับเฉพาะสายวิทย์เท่านั้น เพราะมีเรียนวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ถ้าเรียนสายศิลป์คำนวณต้องลองเช็กกับสถาบันให้ดี หรือไม่ก็เรียนสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ มีบางเอกที่รับเด็กศิลป์คำนวณค่ะ

11. จะสอบเข้าสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จะใช้คะแนน GAT PAT 1 PAT 2 (แล้วแต่สถาบัน) ส่วนวิชาสามัญใช้ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เป็นวิชาหลัก แต่ถ้าอยากครอบคลุมหมดก็เก็บ เคมี กับชีววิทยา มาด้วยค่ะ อันนี้ปลอดภัยชัวร์

12. จริงๆ งานในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ไม่ได้เป็นได้แค่โปรแกรมเมอร์นะคะ ยังสามารถเป็น นักพัฒนาซอฟต์แวร์ นักออกแบบฐานข้อมูล อาจารย์ นักวิจัย ผู้ดูแลระบบ Network Engineer ฯลฯ เดี๋ยวนี้ตำแหน่งมีเยอะมากจริงๆ

13. เพราะการเรียนในสายคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีเป็นทางฝั่งทฤษฎี แต่ว่าแต่ละสาขาจะเน้นต่างกัน ถ้าใครมีการขวนขวาย หาความรู้ใหม่ๆ พัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลา ก็สามารถทำงานที่ไม่ตรงกับสาขาที่เรียนจบได้ อย่างเช่นจบ CS แต่เป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ ก็ได้ค่ะ

14. มีอย่างหนึ่งที่ไม่ได้อยากให้เข้าใจผิดกันก็คือ เด็ก CS ไม่ได้ซ่อมคอมเป็นนะจ๊ะ คือเราเรียนเขียนโปรแกรม เขียนการทำงานของระบบนั้นๆ ถ้า CPU พัง เปิดจอคอมไม่ได้ wifi ไม่เข้า ต้องทำอย่างไร แก้ที่ไหน อันนี้เราไม่รู้จ้าาาาา

15. เอาจริงๆ การเรียน CS ไม่ใช่แค่ว่าเขียนโปรแกรมได้แล้วจบนะคะ ต้องสามารถสื่อสารได้ วางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบได้ และที่สำคัญต้องเข้าใจตรรกะของงานชิ้นนั้นด้วย ถ้าไม่เข้าใจก็เขียนโปรแกรมออกมาไม่ได้

16. เชื่อมั้ยว่า ถ้าเรียน CS แล้วเก่งทางด้านการใช้ Photoshop ด้วย หรือการตัดต่อคลิปด้วย ก็พัฒนาไปได้อีกงานเลยนะคะ แบบนี้เป็นที่ต้องการเยอะมาก สามารถทำงานได้หลายงายในคนคนเดียว

17. เป็นสาขาที่เน้นทำ ไม่เน้นอ่านเท่าคณะอื่นๆ (แต่ก็เรียนทฤษฎีปกตินะจ๊ะ) คือจะจบได้ต้องเขียนให้เป็น รันโปรแกรมออกมาให้ได้ กว่าจะผ่านมาแต่ละวิชาก็ยากเย็นไม่แพ้คณะอื่นๆ เหมือนกัน อย่ามองว่าเรียน CS แล้วสบายเลยค่ะ ไม่สบายนะบอกจริง

18. ไม่ใช่ว่าใครจะเรียนก็ได้ CS เป็นสาขาที่คนที่มาเรียนส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานที่ชอบด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีอยู่แล้ว ถ้าไม่ชอบด้านนี้เยนไปเหมือนตกนรกเลยค่ะ อะไรก็ไม่รู้ ถึงแม้ว่าการเขียนโปรแกรมจะใช้ภาษาอังกฤษ แต่ก็เป็นภาษาอังกฤษที่เป็นคำเฉพาะด้านนี้ ถ้าไม่มีใจไม่ต้องมา

19. เด็ก CS ไม่ได้หยิ่งเน้ออออออ เราก็คือเด็กปกติทั่วไปนั่นแหละ แต่การเรียนของเรามันเป็นด้านคอมฯ บางทีก็คุยกับเด็กภาคอื่นไม่ค่อยจะรู้เรื่อง แต่คุยได้นะ ทักมาเหอะ ฮ่าๆ

20. เรียน CS จะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็เรียนได้ค่ะ ไม่ได้มีข้อจำกัดอะไร และก็ไม่ได้มีค่านิยมอะไรด้วยว่าต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น ใครเก่งกว่า มีความสามารถมากกว่า เหมาะกับงานนั้นๆ มากกว่า ก็ได้งานไปครองเลยจ้า หรือจะเป็นฟรีแลนซ์ก็ได้ อิสระมากๆ

เรื่องของคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีไม่ได้จบแค่ที่การเรียน แต่ต้องพัฒนาและต่อยอด รวมทั้งหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอถึงจะสามารถเก่งขึ้นได้ เพราะว่าโลกของคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีก็พัฒนาอย่างรวดเร็วนั่นเองค่ะ

ที่มา: www.dek-d.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *